ปาร์ตี้ปีใหม่ จัดใหญ่ระดับโลก เปิดข้อสงสัย ไฉนเคาต์ดาวน์ในวัดอรุณ

  • 11 พ.ค. 2563
  • 1921
หางาน,สมัครงาน,งาน,ปาร์ตี้ปีใหม่ จัดใหญ่ระดับโลก เปิดข้อสงสัย ไฉนเคาต์ดาวน์ในวัดอรุณ

ถ้าพูดถึงงานเคาต์ดาวน์ ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หลายคนคงจะนึกถึงภาพการเฉลิมฉลองครั้งยิ่งใหญ่แห่งมวลมนุษยชาติ...เพราะไม่ว่าจะเป็นแห่งหนตำบลไหนบนโลกใบนี้ เทศกาลงานส่งท้ายปี จะต้องมีการประดับประดาด้วยแสงสีเสียงรื่นเริงบันเทิงใจ และที่ขาดไม่ได้คือการเคาต์ดาวน์นับถอยหลัง 3...2...1...ก่อนจะยิงพลุหลายร้อยหลายพันลูกขึ้นเฉิดฉายแสงสว่างกลางท้องฟ้ายามราตรี ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เชื่อว่าหลายคนคงเคยเห็นผ่านตาทางโทรทัศน์มาบ้างไม่มากก็น้อย....แต่ไฉนงานใหญ่ขนาดนี้ เรากลับไม่เคยเห็นภาพงานเฉลิมฉลองส่งท้ายปีของประเทศไทยปรากฏสู่สายตาชาวโลกเลย ทั้งๆ ที่ประเทศไทยคือเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงติดอันดับโลก

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจึงอาสาเป็นเจ้าภาพคิดการใหญ่ หวังจัดงานเคาต์ดาวน์ให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ โดยใช้วัดอรุณฯ เป็นฉากหลังในการเผยแพร่ภาพเคาต์ดาวน์นี้ไปสู่สายตามหาชน...แต่งานรื่นเริงบันเทิงใจอย่างที่ชาวโลกเขาทำกัน ครั้นจะเอามาจัดที่วัดนั้นจะเหมาะสมหรือไม่? อีกทั้งพระปรางค์ที่กำลังบูรณะอยู่ยังไม่ทันเสร็จจะต้องทำอย่างไร? และที่สำคัญการจัดงานเคาต์ดาวน์จะมีผลดีอย่างไรต่อประเทศ? วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาไปไขคำตอบ...

 

งานเคาต์ดาวน์ที่ไทม์สแควร์

ทีมข่าวฯ ได้เก็บข้อมูลสถานที่เคาต์ดาวน์ชื่อดังของโลกที่ถูกนำมาประมวลผ่านทางโทรทัศน์ให้เห็นกันทุกปี โดยสถานที่ที่ถือเป็นไฮไลต์ที่สุด คืองานส่งท้ายปีของประเทศสหรัฐอเมริกา และสถานที่จัดงานที่มีชื่อเสียงและถูกนำมาเผยแพร่อวดสู่สายตาชาวโลกกันทุกปี คือย่านไทม์สแควร์ ส่วนประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของโลกคือประเทศฝรั่งเศส ได้ใช้ฉากหลังของการจัดงานเคาต์ดาวน์เป็นหอไอเฟล ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของเมืองน้ำหอมที่ทั่วโลกรู้จักกันดี สำหรับในทวีปเอเชีย การจัดงานเคาต์ดาวน์ในฮ่องกงก็ถือว่าจัดได้ยิ่งใหญ่ไม่น้อยหน้าใคร สำหรับในประเทศไทย งานเคาต์ดาวน์ที่ใหญ่ที่สุดคงจะไม่พ้นบริเวณห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ 

เคาต์ดาวน์แบบไทย จัดใหญ่ระดับโลก

ทีมข่าวฯ ได้สอบถามไปยัง พระอาจารย์ศากยปุตติยวงศ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวรมหาวิหาร เกี่ยวกับการจัดงานเคาต์ดาวน์ในครั้งนี้ ซึ่งได้รับคำตอบว่า เมื่อพูดถึงเคาต์ดาวน์ คนก็จะนึกถึงภาพของการเฉลิมฉลอง ร้องรำทำเพลง ซึ่งเป็นภาพที่ติดอยู่ในใจของคนไทยมานานมากแล้ว ซึ่งในต่างประเทศ งานแบบนี้จะเป็นรูปแบบของงานรื่นเริง ส่วนประเทศไทยก็รับเอาวัฒนธรรมลักษณะนั้นเข้ามาด้วย พอบอกว่าจะมีการจัดงานเคาต์ดาวน์ที่วัดอรุณฯ ภาพแรกที่คนคิดก็คือมันเป็นงานรื่นเริง ไม่สมควรมาจัดในวัดวาอาราม ศาสนสถานไม่ควรมาเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมของต่างชาติ...สาเหตุคนที่คิดแบบนี้เพราะว่าไปยึดติดกับภาพที่เคยเห็น แต่จริงๆ แล้วการเคาต์ดาวน์แบบไทยก็มีเหมือนกัน “การจัดงานครั้งนี้เราจะใช้วัฒนธรรมไทยเป็นจุดขาย ซึ่งทั่วโลกอยากเห็นว่าประเทศไทยมีอะไรเป็นจุดเด่น เป็นการปลูกสำนึกคนไทยให้รู้ว่าการเคาต์ดาวน์ของคนไทยเป็นอย่างไร ถ้าเป็นงานรื่นเริง มีดนตรี แสงสีเสียง แล้วมานับถอยหลัง 5...4...3...2...1... แบบนี้ทางวัดไม่อนุญาตให้จัดแน่นอน” พระอาจารย์ศากยปุตติยวงศ์ กล่าว

 

พระศากยปุตติยวงศ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณฯ

ด้าน นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่จะจัดงานเคาต์ดาวน์ที่วัดอรุณฯ เบื้องต้น ททท. เสนอค่าใช้จ่ายไปแล้ว 120 ล้านบาท และสำนักงบประมาณกำลังพิจารณาว่าจะให้ใช้งบกลางหรืองบของ ททท. และที่สำคัญ งานครั้งนี้ไม่ใช่งานรื่นเริงอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่ยังคงความเป็นไทยเอาไว้ ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองแบบวัฒนธรรมไทย และรายละเอียดของความเป็นไทยจะหารือร่วมกันกับกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งได้จัดสวดมนต์ที่วัดอรุณฯ ทุกปี ทำให้รูปแบบของงานในปีนี้จะนำการสวดมนต์ข้ามปีเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของงานด้วย นอกจากนี้จะมีการแสดงและแสงสีต่างๆโดยใช้ฉากหลังเป็นพระปรางค์วัดอรุณฯ โดยอาจจะต้องทำอัฒจันทร์ในฝั่งตรงข้ามของวัด (ฝั่งพระนคร) เพื่อให้คนมานั่งชม และมีการจัดให้มีถนนคนเดินตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค. จนถึงวันงานด้วย

พระปรางค์วัดอรุณฯ ใครเห็นก็รู้ว่านี่คือประเทศไทย

ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณฯ กล่าวต่อว่า เห็นด้วยที่ ททท. จะใช้วัดอรุณฯ เป็นจุดศูนย์กลางในการนำเสนอภาพลักษณ์ของความเป็นไทย เพราะจะให้สื่อภาพด้วยภูเขา น้ำตก หรือสะพานข้ามแม่น้ำ มันก็สื่อถึงความเป็นไทยได้ไม่หมด แต่ถ้าสื่อด้วยสถานที่ที่เป็นเอกลักษณ์อย่างพระปรางค์วัดอรุณฯ ใครมองก็รู้ว่าที่นี่คือประเทศไทย และงานนี้ไม่ใช่ว่าจัดที่วัดอรุณฯ เพียงแห่งเดียว แต่สถานที่โดยรอบอย่างเช่น กองทัพเรือ สะพานพระรามแปด ไปจนถึงสะพานพุทธฯ ก็เป็นสถานที่จัดงานด้วย แต่จะใช้วัดอรุณฯ เป็นเซ็นเตอร์หลัก โดยให้ตลอดสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณที่กล่าวมาทั้งหมด “เป็นบริเวณที่เรียกว่า สายน้ำแห่งการสวดมนต์”

 

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าฯ ททท.

นายยุทธศักดิ์ เผยว่า ไม่ว่าประเทศไหนๆ ก็ใช้สถานที่ที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศเป็นสถานที่จัดงานเคาต์ดาวน์ ส่วนประเทศไทยแม้จะมีการจัดงานเคาต์ดาวน์อยู่หลายที่ แต่ภาพปรากฏออกไป มันก็ยังไม่ใช่สัญลักษณ์ของความเป็นไทย ทำให้ ททท. เลือกที่จะใช้วัดอรุณฯ เป็นสถานที่จัดงาน และเชื่อมั่นว่าภาพจะออกมาสวยงามมาก เมื่อคนที่ได้เห็นก็จะรู้ได้ทันทีว่าที่นี่คือประเทศไทย “งานนี้ถือเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยสำหรับการส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งเราคาดหวังให้การท่องเที่ยวเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศในปี 2559 ด้วย”

รื้อนั่งร้าน เตรียมงานถ่ายทอดสด

ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณฯ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาวัดอรุณฯ ได้จัดงานใหญ่ทุกปี อย่างการสวดมนต์ข้ามปีนั้นก็มีมาตลอด แม้พื้นที่ของวัดอรุณฯ จะไม่กว้างขวาง แต่กลับมีคนร่วมงานนับหมื่นๆ คน ทำให้ทั่วทั้งบริเวณวัด ไม่ว่าจะเป็นลานด้านหน้าพระปรางค์ ลานรอบๆ พระปรางค์ ตลอดจนทางเดินของวัด จะแน่นขนัดไปด้วยผู้คนจนแทบไม่มีที่ว่าง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ายังมีคนให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมนี้อยู่มาก แต่ก็ไม่เคยมีภาพเหล่านี้ปรากฏไปสู่สายตาชาวโลกเลย ส่วนเรื่องพระปรางค์ที่กำลังบูรณะอยู่นั้น นั่งร้านที่ประกอบขึ้นคงต้องมีการนำออกไปก่อน ซึ่งทางวัดและกรมศิลปากรได้หารือกันแล้วว่า จะให้รื้อนั่งร้านรอบองค์พระปรางค์ออกไปก่อน เนื่องจากต้องการให้ภาพที่ออกมานั้นดูดีที่สุด เรื่องการซ่อมแซมอาจจะล่าช้าไปสักหนึ่งเดือนก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ประโยชน์ที่เราจะได้กลับมาไม่ได้มีเฉพาะด้านการท่องเที่ยว แต่ยังทำให้คนไทยสำนึกรักในความเป็นไทยด้วย

 

พระปรางค์วัดอรุณฯ กำลังอยู่ในขั้นตอนบูรณะ

ผู้ว่าฯ ททท. กล่าวว่า ได้ประสานงานกับสื่อมวลชนชั้นนำของโลก ทั้ง CNN BBC และ CCTV ของจีน รวมทั้งสถานีของญี่ปุ่นด้วย ซึ่งจะมีการมาเก็บภาพของงานและมีตัดภาพเพื่อถ่ายทอดสดด้วย ฉะนั้นจึงต้องรบกวนขั้นตอนของการบูรณะ ซึ่งอาจจะต้องรื้อนั่งร้านออกบางส่วนหรือถ้าจำเป็นจริงๆ ก็ต้องรื้อออกทั้งหมด โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการหารือกับทางกรมศิลปากร ซึ่ง ททท. อยากให้ภาพที่ออกมาดูดีที่สุด เพื่อให้งานครั้งนี้ปรากฏอยู่ในปฏิทินการท่องเที่ยวของโลก

กรมศิลป์แจง พระปรางค์วัดอรุณฯ...โบราณสถานในวัดปัจจุบัน

ขณะที่ กรมศิลปากร ในฐานะผู้ดูแลโบราณสถานของชาติและยังเป็นผู้ดูแลงานบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ โดย นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากรมีหน้าที่ดูแลในส่วนของโบราณสถานเป็นหลัก แต่วัดอรุณฯ นั้นเป็นวัดปัจจุบัน ไม่เหมือนกับโบราณสถานอย่างอุทยานฯ กรุงศรีอยุธยา ที่จะมีเจ้าหน้าที่ของกรมศิลป์ดูแลอยู่ ฉะนั้นกรมศิลป์มีหน้าที่ให้คำแนะนำ บอกถึงข้อมูลและข้อจำกัดต่างๆให้ ททท. รับทราบ แต่ท้ายที่สุดแล้ว การบริหารจัดการต่างๆ จะอยู่กับทาง ททท. และทางวัดอรุณฯ เป็นฝ่ายตัดสินใจ

 

แม้จะเป็นโบราณสถาน แต่วัดอรุณฯ เป็นผู้รับผิดชอบ

“สำหรับองค์พระปรางค์นั้น ในยามปกติวัดจะเป็นผู้ดูแล แต่เนื่องจากเป็นโบราณสถานของชาติ การบูรณะต่างๆ จะเป็นหน้าที่ของกรมศิลปากร” ทางกรมศิลปากรได้แจ้งไปยัง ททท.ว่า องค์พระปรางค์ กำลังอยู่ในช่วงบูรณะ มีการขึ้นนั่งร้านไว้ทั้งหมด พื้นผิวขององค์พระปรางค์ที่เป็นลวดลายที่ทำจากกระเบื้องเซรามิก ก็ถูกนำออกมาบูรณะ และพื้นที่ของวัดอรุณนั้นค่อนข้างมีจำกัด ซึ่งกรมศิลป์ได้เสนอข้อกังวลเหล่านี้เพื่อ ททท. นำไปเป็นหลักประกอบการบริหารจัดการ

ไม่หวั่นเรื่องโครงสร้าง แต่กระทบเรื่องเวลา

นายอนันต์ กล่าวต่อว่า โครงสร้างขององค์พระปรางค์นั้น กรมศิลป์ได้ส่งวิศวกรเข้าไปตรวจโครงสร้างแล้ว และพบว่ายังมีความแข็งแรงทนทาน ซึ่งภาพโดยรวมถือว่าอยู่ในสภาพดี มีเพียงพื้นผิวภายนอกเท่านั้นที่เสียหายบ้างไปตามกาลเวลา ทำให้ดูแล้วอาจจะไม่มีความสวยงามเท่าที่ควร ถ้ามีการอนุมัติให้จัดงานขึ้น และจำเป็นต้องรื้อนั่งร้านรอบองค์พระปรางค์ออก ก็สามารถทำได้ไม่มีผลกระทบอะไรต่อโครงสร้าง แต่ผลกระทบหลักๆ ที่เกิดขึ้น จะเป็นเรื่องของงานบูรณะที่ล่าช้าออกไปอีกอย่างน้อยๆ ประมาณ 2 เดือน เนื่องจากการรื้อถอนนั่งร้าน จะใช้เวลาประมาณ 3 อาทิตย์ ซึ่งต้องทำก่อนการจัดงานเคาต์ดาวน์ และจะใช้เวลาประกอบนั่งร้านใหม่อีกประมาณ 2-3 อาทิตย์ และแน่นอนว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ยังตอบไม่ได้ว่าเป็นจำนวนเท่าไร เพราะต้องรอให้มีการอนุมัติการจัดงานก่อน จึงจะให้ผู้รับเหมาประเมินราคาได้

 

นั่งร้านถูกติดตั้งรอบองค์พระปรางค์เพื่อทำการซ่อมแซม

ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดงาน ทางเรายังตอบไม่ได้ว่าจะใช้อุปกรณ์อะไรบ้างในการจัดงานครั้งนี้ แต่เท่าที่คุยกันเบื้องต้น จะมีเพียงไลท์อัพอย่างเดียวที่ติดตั้งบริเวณตัวพระปรางค์ ซึ่งในการติดตั้งก็ต้องไปดูกันที่หน้างานอีกที หรือหากมีอุปกรณ์อื่นๆ พิ่มเติม ก็ต้องนำมาพูดคุยกัน อีกประการหนึ่งคือ กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดงานสวดมนต์ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เป็นประจำทุกปี โดยจัดที่หลายๆ วัดในกรุงเทพฯ และให้วัดอรุณฯ เป็นศูนย์กลางการจัดงาน ซึ่งมีคนให้ความสนใจเยอะอยู่แล้ว แต่ในปีนี้จะมีการจัดงานเคาต์ดาวน์ร่วมกับการสวดมนต์ข้ามปี ทางกรมศิลป์จึงกังวลว่าจะเอากิจกรรมทั้งสองอย่างนี้มาจัดร่วมกันได้อย่างไรบ้าง ซึ่งทาง ททท. ต้องไปคิดหาวิธีตรงนี้มา

 

บริเวณลานวัดอรุณฯ มีพื้นที่ไม่มาก

อธิบดีกรมศิลป์ กล่าวทิ้งท้ายว่า คงบอกไม่ได้ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเรื่องการจัดงานเคาต์ดาวน์ที่วัดอรุณฯ แต่เราได้เสนอแนะข้อกังวลเหล่านี้เพื่อให้ ททท. นำไปพิจารณา เพื่อให้การจัดงานนั้น ไม่ส่งผลกระทบหรือเกิดความเสียหายกับพระปรางค์ ซึ่งถ้าเป็นช่วงที่พระปรางค์ได้รับการบูรณะเสร็จแล้ว ข้อกังวลเหล่านี้ก็จะไม่มี... “ตอนนี้ขอแค่ให้มีการอนุมัติเห็นชอบจากภาครัฐก่อน แล้วจึงจะประเมินรายละเอียดอื่นๆ ได้” อธิบดีกรมศิลปากร กล่าว

 

ที่มา ไทยรัฐออนไลน์ 

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top